รูปปั้นราฟเฟิลส์ดูโดดเด่นโดยมีเส้นขอบฟ้าของสิงคโปร์เป็นฉากหลัง

รูปปั้นของราฟเฟิลส์ซึ่งทำจากหินอ่อนสีขาว ยืนอยู่ในท่ากอดอกและมองไปยังท้องทะเลอย่างครุ่นคิดนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสิงคโปร์ อันเป็นสถานที่ที่มักจะมีผู้นิยมมาถ่ายรูปกันเป็นจำนวนมาก

ถ่ายเซลฟี่กับรูปปั้นที่มีชื่อเสียงนี้ที่ Raffles Landing Site (ราฟเฟิลส์ แลนดิ้ง ไซต์) ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และเป็นบริเวณที่เชื่อกันว่าเป็นจุดที่ราฟเฟิลส์ก้าวเท้าขึ้นฝั่งครั้งแรกบนเกาะสิงคโปร์ในปี ค.ศ. 1819

รูปปั้นหินอ่อนสีขาวนี้ที่จริงแล้วเป็นการลอกเลียนแบบมาจากรูปปั้นเดิมที่ทำจากทองสำริดสีเข้ม และสร้างขึ้น ณ ที่แห่งนี้ในปี ค.ศ. 1972 เพื่อเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 150 ปีแห่งการก่อตั้งสิงคโปร์

หากคุณต้องการชมรูปปั้นแรกที่มีอายุเก่าแก่กว่ามาก ก็สามารถไปชมได้ที่ Victoria Memorial Hall (วิกตอเรีย เมโมเรียล ฮอลล์) ที่ เอ็มเพรสเพลส ซึ่งสามารถเดินไปได้ในระยะทางไม่ไกลเลย อนุสาวรีย์ราฟเฟิลส์นี้ปั้นขึ้นโดยประติมากรผู้เลื่องชื่อ โทมัส วูลเนอร์ (Thomas Woolner) มีการเปิดอนุสาวรีย์อย่างเป็นทางการในวันฉลองครบรอบ 50 ปีแห่งการครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียแห่งอังกฤษ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1887

คนเหล็กแห่งสิงคโปร์

ผู้ที่สนใจเรื่องความรู้รอบตัวและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจะชอบฟังเรื่องราวความเป็นมาของอนุสาวรีย์ราฟเฟิลส์ มีอยู่เรื่องหนึ่งที่กล่าวว่า เมื่อเปิดอนุสาวรีย์ในครั้งแรก มีผู้ตั้งชื่อเล่นให้อนุสาวรีย์แห่งนี้ว่า ออรัง เบซี (orang besi) (ซึ่งแปลว่า“คนเหล็ก” ในภาษามาเลย์)

เรื่องที่ค่อนข้างแปลกอีกเรื่องก็คือ อนุสาวรีย์แห่งแรกได้ถูกย้ายมาจากที่ตั้งเดิม ซึ่งอยู่ที่ Padang (ปาดัง) ในปี 1919 ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะรูปปั้นเดิมมักจะถูกลูกฟุตบอลลอยมากระแทกเป็นประจำ และผู้ชมฟุตบอลที่สนาม Padang ในยุคแรกๆ ก็นิยมมาจับจองที่นั่งที่ฐานอนุสาวรีย์เพื่อที่จะดูเกมฟุตบอลได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ในช่วงที่สิงคโปร์ถูกยึดครองโดยญี่ปุ่น อนุสาวรีย์ราฟเฟิลส์ได้ถูกย้ายไปยัง Syonan Museum (พิพิธภัณฑ์โชนาน หรือพิพิธภัณฑ์ราฟเฟิลส์เดิม แต่ปัจจุบันเป็น National Museum Singapore หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสิงคโปร์) นอกจากนี้ยังเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่ากองทัพญี่ปุ่นตั้งใจที่จะนำรูปปั้นไปหลอมเพื่อเอาทองสำริด ต่อมาได้มีการนำรูปปั้นนี้กลับมาประดิษฐานใหม่อีกครั้งที่ Empress Place ในปี 1946

ทุกวันนี้ อนุสาวรีย์ราฟเฟิลส์ถือเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติอย่างหนึ่งของสิงคโปร์ (มีผู้นิยมนำรูปปั้นรุ่นสีขาวไปทำเป็นของที่ระลึกให้ดูเก๋ไก๋) และยังคงเป็นสัญลักษณ์ของสิงคโปร์สมัยใหม่ตลอดมา