ลึกเข้าไปในย่านอันเงียบสงบ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 22 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของอนุสรณ์สถานสงครามครันจิ ซึ่งเป็นสุสานตั้งอยู่บนเนินเขาซึ่งสวยงามเป็นอย่างมากในแง่ของบรรยากาศอันสงบเงียบที่สัมผัสได้ในทันทีที่คุณไปถึงที่นั่น

ร่วมสดุดีผู้วายชนม์
ป้ายหน้าหลุมศพสีขาวบริสุทธิ์ ณ Kranji War Memorial

ถ่ายภาพโดย Public Domain via Foter.com

อนุสรณ์สถานแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อสดุดีเหล่าวีรบุรุษและวีรสตรีจากประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดา ศรีลังกา อินเดีย มาลายา (มาเลเซีย) เนเธอร์แลนด์ และนิวซีแลนด์ ผู้ที่เสียชีวิตในสนามรบในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

ณ ที่แห่งนี้ คุณจะพบกับแผ่นหินสีขาวสลักชื่อบนหลุมฝังศพเรียงเป็นแถวเป็นแนวมากกว่า 4,400 แผ่น อยู่บนเนินที่ค่อย ๆ ลดหลั่นของสุสานแห่งนี้ อนุสรณ์สถานทหารจีน (Chinese Memorial) ในที่ดินแปลงที่ 44 เป็นที่ตั้งของสุสานหมู่ของทหารจีน 69 นาย ซึ่งถูกสังหารโดยกองทัพญี่ปุ่นเมื่อสิงคโปร์ตกเป็นของกองทัพญี่ปุ่นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1942

อนุสรณ์สถานบนเนินเขา
ผนังที่สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์สำหรับหลุมศพที่ไร้ชื่อ ณ Kranji War Memorial

ถ่ายภาพโดย Erwin Soo via Foter.com

ขณะที่คุณเดินขึ้นบันไดเพียงช่วงสั้น ๆ ไปถึงชั้นบนสุดของเนินเขาแห่งนี้ คุณก็จะเห็นอนุสรณ์สถานตั้งเรียงรายอยู่จำนวน 4 แห่งด้วยกัน

อนุสรณ์สถานที่ใหญ่ที่สุดคืออนุสรณ์สถานสิงคโปร์ (Singapore Memorial) ซึ่งมีเสาต้นตรงกลางขนาดใหญ่ประดับดาวบนยอดโดดเด่น ซึ่งสูงตระหง่านถึง 24 เมตร

อนุสรณ์สถานแห่งนี้จารึกชื่อทหารบกและทหารอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรมากกว่า 24,346 นาย ซึ่งจบชีวิตลงในเอเชียอาคเนย์ และเป็นทหารที่ไม่มีหลุมศพเป็นที่แน่ชัด ที่ประตูทางเข้า คุณจะเห็นสมุดบันทึกรายชื่อของเหล่าทหารหาญเหล่านี้ โดยมีคณะกรรมการดูแลสุสานสงครามของเครือจักรภพ (Commonwealth War Graves Commission) เป็นผู้รับผิดชอบดูแลรักษาสมุดบันทึกดังกล่าว

ทุก ๆ ปี ในวันอาทิตย์ที่ใกล้ที่สุดกับวันรำลึกการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (Remembrance Day) ในวันที่ 11 พฤศจิกายน จะมีการจัดพิธีรำลึกเพื่อเชิดชูวีรกรรมของเหล่าทหารหาญผู้พลีชีพในสงคราม

ถัดจากอนุสรณ์สถานสงครามครันจิ จะเป็นสุสานทหารครันจิ (Kranji Military Cemetery) ซึ่งเป็นที่ฝังศพทหารมากกว่า 1,400 นายซึ่งเสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสงครามโลก และสุสานแห่งชาติสิงคโปร์ (Singapore State Cemetery) ซึ่งเป็นที่ฝังร่างของประธานาธิบดีคนแรกและคนที่ 2 ของสิงคโปร์ กล่าวคือ เอ็นซิค ยูโซฟ อิชัค (Encik Yusof Ishak) และ ดร.เบนจามิน เฮนรี เชียร์ส (Dr Benjamin Henry Sheares) ตามลำดับ