สงครามโลกครั้งที่สองคือโศกนาฏกรรมในระดับโลก และสิงคโปร์ก็ไม่ได้รับการยกเว้นจากเหตุการณ์อันเลวร้ายนี้ ว่ากันว่าประชาชนกว่า 50,000 คนต้องล้มตายลงในช่วงที่กองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดครองสิงคโปร์ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1942 ถึงวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1945

Civilian War Memorial ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของ Padang (ปาดัง) บนถนน Beach สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พลเรือนที่ตกเป็นเหยื่อของสงครามโลกครั้งที่ 2 และเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่มชาติพันธุ์หลักทั้งสี่กลุ่มของสิงคโปร์ คือ มาเลย์ จีน อินเดีย และยูเรเซียน

อดีตนายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู ของสิงคโปร์ ได้เดินทางมาเป็นประธานเปิดอนุสรณ์สถานแห่งนี้เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1967 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่สิงคโปร์ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังญี่ปุ่นที่บุกเข้ายึดครองเมื่อ 25 ปีก่อนหน้านั้น และที่นี่ได้รับการประกาศให้เป็นอนุสาวรีย์แห่งชาติในปี 2013

เสาหลักทั้ง 4
เสาสี่ต้นที่สูงตระหง่าน ณ Civilian War Memorial Park

Photo by Jerry Wong (xcode) via Foter.com

ที่สวนอันเงียบสงบแห่งนี้ คุณจะเห็นเสาขนาดใหญ่เท่ากันจำนวน 4 ต้น ซึ่งตั้งสูงตระหง่านกว่า 65 เมตร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความทุกข์ทรมานร่วมกันของกลุ่มชาติพันธุ์หลัก ๆ ของสิงคโปร์ รวมถึงเหล่าผู้วายชนม์ทั้งหลายที่ได้รับการฝังร่างไว้ ณ สถานที่แห่งนี้

ประวัติศาสตร์อันน่าเศร้า
Civilian War Memorial ท่ามกลางตึกระฟ้าในย่านธุรกิจใจกลางเมือง

Photo by Rowen Barrett (Rwoan) via Foter.com

ทุกวันนี้คนสิงคโปร์รุ่นใหม่จำนวนมากอาจไม่ทราบถึงประวัติความเป็นมาของ Civilian War Memorial พวกเขาเรียกสถานที่แห่งนี้ด้วยชื่อเล่นว่า “The Chopsticks” (ตะเกียบ)

อนุสรณ์สถานแห่งนี้สร้างขึ้นหลังจากมีการค้นพบสุสานหมู่ที่ฝังศพเหยื่อสงครามที่เป็นพลเรือนเอาไว้รวมกันตามสถานที่หลายแห่งทั่วเกาะสิงคโปร์ในปี ค.ศ. 1962 สุสานหมู่จำนวนมากกว่า 40 แห่งจากทั้งหมดพบอยู่ในที่ที่เรียกขานกันว่า Valley of Death (หุบเขาแห่งความตาย) ซึ่งตั้งอยู่ในย่าน Siglap

อนุสรณ์สถานสงครามพลเรือนถูกสร้างครอบโครงสร้างสุสานขนาดใหญ่ ซึ่งบรรจุกระดูกที่ขุดขึ้นมาจากบรรดาสุสานหมู่ดังกล่าวข้างต้น

ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ของทุกปี จะมีการจัดพิธีรำลึกถึงเหยื่อสงครามในครั้งนั้นขึ้นที่อนุสรณ์สถานแห่งนี้ ซึ่งจะมีการสดุดีและไว้อาลัยเหยื่อผู้เสียชีวิตในสงคราม