ในเทศกาลไทปูซัม ผู้อุทิศตนหลายคนจะทรมานตนเองเพื่อบูชาเทพมุรุกัน เพื่อให้เทพเจ้าเห็นว่าพวกเขาได้อุทิศตนมากเพียงใด

ถ่ายภาพโดย Lionel Boon

ในระหว่างเทศกาลไทปูซัม ซึ่งมีกิจกรรมหลักคือขบวนแห่ยิ่งใหญ่ที่เต็มไปด้วยสีสันซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี จะมีบรรดาผู้ศรัทธาชาวฮินดูในสิงคโปร์ออกมาขอพร แก้บน และขอบคุณเทพเจ้าที่ตนนับถือ

งานเทศกาลนี้จัดขึ้นเพื่อสักการะพระสุพรัมมาเนียม (หรือเรียกว่าพระมุรุกัน) ซึ่งเป็นเทพแห่งความดี ความเยาว์วัย และพลังอำนาจ และเป็นผู้ขจัดความชั่วร้ายทั้งปวง

โดยปกติเทศกาลนี้จะจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน ในวันก่อนถึงวันเทศกาล ขบวนราชรถ (ซึ่งประดิษฐานรูปปั้นพระขันธกุมาร) จะเริ่มเคลื่อนขบวนจาก Sri Thendayuthapani Temple (วัดศรี ธันดายุธาปานี) บนถนน Tank ไปยัง Layan Sithi Vinayagar Temple (วัดลายัน สิทธิ วินายกะ) ตรงถนน Keong Saik

พิธีไทปูซัมเริ่มตั้งแต่ตอนเช้ามืด ผู้ร่วมพิธีกลุ่มแรกจะเทินศีรษะด้วยหม้อใส่นมและแบกหรือลากกาวาดี ที่ทำจากไม้หรือโลหะและประดับด้วยรูปปั้นเทพเจ้าทั้งหลายที่ชาวฮินดูเคารพนับถือ บ้างก็เอาเหล็กแหลมเสียบทะลุลิ้นและแบกกาวาดีไม้ที่ประดับด้วยดอกไม้และขนนกยูงเอาไว้บนบ่าทั้งสองข้าง โดยเลี้ยงเอาไว้ไม่ให้กาวาดีตกลงมา ส่วนร่างทรงคนอื่น ๆ ก็แบกกาวาดีที่เสียบเหล็กแหลมเอาไว้เป็นจำนวนมากซึ่งต้องทำขึ้นอย่างพิถีพิถัน

เตรียมประกอบพิธี

ในความเป็นจริง สำหรับบรรดาผู้ที่อุทิศตัวเป็นร่างทรงในขบวนแห่แล้ว ไทปูซัมก็มักจะเป็นจุดไคลแมกซ์ของการใช้เวลาตลอดทั้งเดือนในการเตรียมชำระล้างจิตวิญญาณโดยการกินมังสวิรัติมาอย่างเคร่งครัด

เชื่อกันว่าเมื่อใดก็ตามที่จิตเป็นอิสระจากการหลงมอมเมาในวัตถุและร่างกายถูกปลดพันธนาการจากความพึงพอใจทางกายแล้ว เมื่อนั้นผู้ที่เป็นร่างทรงก็จะสามารถทำภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ได้โดยไม่รู้สึกเจ็บปวดใด ๆ ต่อไปอีก

ขบวนแห่ที่เต็มไปด้วยสีสัน

แน่นอนว่า ไม่ใช่ว่าทุกคนที่เข้าร่วมพิธีในงานฉลองนี้จะต้องทำอะไรที่น่าหวาดเสียวเช่นนั้น เพราะ กาวาดี ส่วนใหญ่ก็ไม่มีเหล็กแหลมทิ่มแทงร่างกาย และพวกผู้หญิงก็มักจะเพียงแค่เทินหม้อใส่นมไว้บนศีรษะเท่านั้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งเรืองและอุดมสมบูรณ์สำหรับชาวฮินดู

สามารถชมขบวนแห่และการแสดงอันอลังการได้ทุกที่ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวัดศรีนิวาสา เปรุมาล (Sri Srinivasa Perumal Temple ) ตรงถนนเซรังกูน และวัดศรี ธันดายุธาปานี (Sri Thandayuthapani Temple) บนถนนแทงค์ เนื่องจากถนนบางเส้นปิดการจราจรเพื่องานนี้โดยเฉพาะ

บรรดาผู้อุทิศตนที่เป็นร่างทรงจะเดินไกลเป็นระยะทางราวสี่กิโลเมตร พร้อมๆ กับญาติสนิทมิตรสหาย ซึ่งจะร้องเพลงสวดหรือท่องบทสวดมนตร์เพื่อให้กำลังใจพวกเขา

สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์

จิตใจอยู่เหนือวัตถุ

คำว่า 'กาวาดี' ในภาษาทมิฬแปลตามตัวว่า “การสังเวยบวงสรวงในทุกย่างก้าว” และในความเป็นจริงแล้วก็ได้มีการพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นเช่นนั้นจริง หากเพียงได้จ้องดูให้เต็มตาอีกสักนิด 'กาวาดี' ซึ่งเป็นโครงเหล็กหรือไม้รูปครึ่งวงกลม มีไว้เพื่อให้ร่างทรงเดินแบกไปตลอดเส้นทางของขบวนแห่ กาวาดีจะมีแท่งเหล็กหรือไม้เพื่อรองรับน้ำหนักที่วางลงบนไหล่สองข้างของผู้แบก และประดับประดาด้วยดอกไม้และขนนกยูง และกาวาดีบางชิ้นก็มีเหล็กแหลมที่แทงทะลุร่างกาย บางอันอาจมีน้ำหนักถึง 40 กิโลกรัมและสูงถึง 4 เมตร

สิ่งอื่นๆ

ที่น่าลอง