ส่วนใหญ่แล้วเทศกาลปองกาลจะจัดขึ้นทางตอนใต้ของอินเดียเป็นเวลาสี่วัน โดยบรรดาชาวไร่ชาวนาเพื่อแสดงความขอบคุณ "สุริยะ" หรือพระอาทิตย์และผู้ให้กำเนิดชีวิต เพื่อขอพรให้ได้ผลผลิตบริบูรณ์

การเริ่มต้นใหม่

ในสิงคโปร์ จะมีการเฉลิมฉลองเทศกาลปองกาลในวันแรกของเดือนไทย ซึ่งถือเป็นเดือนมงคล ในวันแรก หรือที่เรียกว่าวัน "โบกี ปองกาล" การเฉลิมฉลองจะเริ่มต้นด้วยการบูชาพระอินทร์ เจ้าแห่งหมู่เมฆและองค์ผู้ประทานสายพิรุณ ผู้คนจะทำความสะอาดบ้านเรือนในฤดูใบไม้ผลิอย่างสะอาดหมดจด และทิ้งทรัพย์สินเก่าเก็บทั้งหลาย เพื่อสื่อถึงการเริ่มต้นใหม่ที่สวยงาม

มีการจุดตะเกียงน้ำมัน สวมเสื้อผ้าชุดใหม่ และมีการนำแป้งข้าวเจ้ามาตกแต่งเป็นลวดลายหลากสีที่พื้นของบ้านเรือนต่างๆ

ในวันที่สอง หรือที่เรียกว่าวัน "สุริยะ ปองกาล" จะมีการบวงสรวงพระอาทิตย์ ทุกบ้านจะหุงข้าวใส่นมเพื่อถวายแด่องค์พระสุริยะในตอนรุ่งอรุณ

คำว่าปองกาลแปลว่า “ไหลล้น” ดังนั้น หม้อข้าวจะต้องเดือดปุดๆ เพื่อสื่อถึงความเจริญรุ่งเรืองและความอุดมสมบูรณ์ จากนั้น จึงตักข้าวแจกจ่ายให้สมาชิกในครอบครัวและแขกผู้มาเยือนถึงเรือนชานทุกคน นับเป็นช่วงเวลาที่มีการพบปะสังสรรค์มากเป็นพิเศษ เนื่องจากญาติสนิทมิตรสหายต่างไปมาหาสู่และทักทายพูดคุยกัน

วันที่สาม ซึ่งเรียกว่าวัน "มัตตู ปองกาล" เป็นการระลึกถึงบุญคุณของเหล่าปศุสัตว์ทั้งหลาย นั่นก็คือ วัวซึ่งถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาฮินดู

เพื่อรำลึกถึงการเสียสละตรากตรำทำงานของสัตว์เหล่านี้ อาทิ การไถนาและการให้นม เจ้าของจะทำความสะอาดขัดสีฉวีวรรณสัตว์เหล่านี้และทาสีที่เขาสัตว์ เจ้าของจะนำลูกปัดหลากสี กระดิ่ง และพวงมาลัยมาสวมคอ และป้อนอาหารมื้อพิเศษเป็นการตบท้าย

ความผูกพันที่มั่นคง

วันสุดท้ายของเทศกาล ที่เรียกว่า "กันนัม ปองกาล" จะเน้นไปที่ชุมชนและการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ผู้ที่ด้อยอาวุโสกว่าจะขอพรจากผู้ที่อาวุโสกว่าในครอบครัว

เจ้าของที่ดินก็จะแจกจ่ายเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม อาหาร และให้เงินแก่คนงานและลูกจ้าง มีการทำพิธีบวงสรวงตามเทวสถานต่างๆ ไปพร้อมกับการสวดมนตร์ด้วยบทสวดพิเศษ

เทศกาลปองกาลเต็มไปด้วยท่วงทำนองของวิถีเกษตรกรรม เป็นโอกาสอันดีที่นักท่องเที่ยวจะได้เห็นความร่ำรวยทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต การเฉลิมฉลองของผู้คนทางตอนใต้ของอินเดียมานานหลายศตวรรษ

ไฮไลท์ของงานอีเว้นท์

แม้ว่างานเฉลิมฉลองที่เป็นทางการจะใช้เวลาทั้งสิ้น 4 วัน แต่คุณสามารถชมงานเฉลิมฉลองที่ยาวนานนับเดือนซึ่งเริ่มขึ้นด้วยพิธีประดับประดาแสงไฟในเทศกาลปองกาล

ลองไปที่ย่าน Little India (ลิตเติ้ลอินเดีย) และเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองเหล่านี้ ซึ่งมีทั้งการแสดง เวิร์กช็อป และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ สำหรับรายละเอียดของการจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลปองกาล โปรดเข้าชมที่นี่

 

สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์

ของขวัญอันล้นเหลือ

ชื่อเทศกาลนี้มีที่มาจากคำว่า ปองกู (pongu) ซึ่งมีความหมายว่า “เดือดจนล้นออกมา” หรือ “เจริญรุ่งเรือง” ในภาษาทมิฬ นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าเหตุใดคุณจึงได้พบกับประเพณีที่สำคัญในการใส่นมและข้าวสารลงไปในหม้อดินใหม่ๆ จากนั้นจึงเติมขิง ขมิ้น น้ำตาลทรายแดง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ลูกเกด และน้ำมันเนยลงไปในขณะที่กำลังหุงข้าว

เมื่อหม้อข้าวเดือดและมีฟองขึ้นจนล้นออกมา สมาชิกในครอบครัวก็จะตะโกนว่า "ปองโกลโล ปองกาล" ซึ่งมีความหมายว่า "ขอให้ข้าวนี้จงล้นออกมา" ในภาษาทมิฬ หรือเป็นการอธิษฐานขอให้โชคลาภไหลมาเทมา

สิ่งอื่นๆ

ที่น่าลอง