บทความที่มีผู้สนับสนุนซึ่งได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร Conde Nast Traveler

ด้านในของ Manhattan ที่ Regent Singapore เอื้อเฟื้อภาพจาก Cloudstreet

สิงคโปร์ เมืองที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแดนสวรรค์แห่งอาหาร และสถานการณ์โรคระบาดทั่วโลกก็ไม่ได้ทำให้ความรักในการรับประทานอาหารนอกบ้านและการกินดีอยู่ดีของผู้คนต้องหายไปแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าสงสัยว่าทันทีที่เริ่มมีการผ่อนคลายข้อจำกัดภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ในวันที่ 19 มิถุนายน คนสิงคโปร์ก็เริ่มกลับไปรับประทานอาหารในร้านอาหารโดยรวมกลุ่มกันไม่เกิน 5 คน พวกเขายังรีบกลับไปยังร้านโปรดและหลั่งไหลกันเข้าสู่แพลตฟอร์มจองโต๊ะอาหารกันอย่างเต็มที่ จนถึงปลายเดือนกรกฎาคม ร้านอาหารต่างๆ ในเมืองสิงคโปร์รายงานว่าเป็นยอดขายของร้านพุ่งสูงสุดในรอบหลายปี อันสะท้อนให้เห็นว่าคนสิงคโปร์ต้องการอย่างยิ่งที่จะออกมารับประทานอาหารนอกบ้านกันอีกครั้ง


ด้านใน Cloudstreet Cloudstreet ภัตตาคารไฟน์ไดนิ่ง ที่ได้ปรับปรุงขั้นตอนดำเนินการใหม่หมด โดยให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยและสุขอนามัยเป็นอันดับหนึ่ง (ด้วยความเอื้อเฟื้อจาก Cloudstreet)

อย่างไรก็ตาม การเปิดทำการอีกครั้งท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด ทำให้ต้องมีมาตรการรักษาความสะอาดที่เคร่งครัด แม้แต่ในเมืองที่มีมาตรฐานด้านสุขอนามัยสูงมายาวนานก็ตาม และร้านอาหารต่างๆ ของสิงคโปร์ ตั้งแต่ภัตตาคารระดับห้าดาวไปจนถึงร้านอาหารในศูนย์อาหารฮอว์กเกอร์ ก็ไม่ได้รับข้อยกเว้นใดๆ

ที่ร้านอาหารระดับไฟน์ไดนิ่งที่ทันสมัยอย่าง Cloudstreet แขกที่ลุกจากที่นั่งเพื่อไปเข้าห้องน้ำ จะพบว่ามีการเปลี่ยนผ้าเช็ดปากให้ใหม่ทันทีเมื่อพวกเขากลับมาที่โต๊ะ เมนูของที่ระลึกที่เป็นบัตรสะสมรูปน่ารักๆ ซึ่งมักจะมอบให้แขกเมื่อรับประทานอาหารเสร็จ ตอนนี้ได้เปลี่ยนเป็นแบบดิจิทัลเพื่อลดการสัมผัสทางกายภาพ

Nicola Ying ลูกค้าของร้าน Cloudstreet ที่เพิ่งมาทานอาหารที่ร้านเมื่อไม่นานมานี้ สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในขั้นตอนการรักษาความปลอดภัย ตั้งแต่เริ่มรับประทานอาหารกันเลยทีเดียว “โชคดีที่ Cloudstreet เป็นภัตตาคารขนาดใหญ่ เราเลยไม่รู้สึกโหรงเหรงเมื่อมีการลดจำนวนโต๊ะและที่นั่งลง และลูกค้าแต่ละโต๊ะก็ต้องนั่งห่างๆ กัน” เธอเล่า “อย่างเช่นพนักงานจะสวมหน้ากากอนามัย ขณะที่เชฟก็สวมถุงมือเมื่อมาที่โต๊ะเราเพื่อฝานเห็ดทรัฟเฟิลลงในจานอาหาร มีเจลล้างมืออยู่บนโต๊ะและพื้นที่ส่วนกลาง ดังนั้นเราจึงทำความสะอาดมือได้อย่างสะดวก”

การใส่ใจดูแลเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของร้านอาหารในการปฏิบัติตามตราสัญลักษณ์รับรองคุณภาพมาตรฐาน SG Clean โปรแกรมดังกล่าวเริ่มเปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์โดยองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Environment Agency) สำหรับภาคธุรกิจไลฟ์สไตล์และการท่องเที่ยว โดยการท่องเที่ยวของสิงคโปร์ (Singapore Tourism Board) และ Enterprise Singapore (ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่มุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจ) เพื่อส่งเสริมการรักษาความสะอาดและสุขอนามัยในธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โครงการนี้มุ่งเน้นที่การรับรองสถานที่ต่างๆ ที่ต้องรองรับผู้คนเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาสามารถทำได้ตามแนวปฏิบัติที่ดีในขั้นพื้นฐานของอุตสาหกรรม

การจะได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าว ธุรกิจต่างๆ ต้องปฏิบัติตามรายการตรวจสอบ 7 ข้อ เช่น การปฏิบัติตามแนวปฏิบัติมาตรฐานด้านการรักษาความสะอาดและสุขอนามัย แนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของบุคลากรภายนอก เช่น ซัพพลายเออร์และผู้รับจ้าง และการแต่งตั้งผู้จัดการให้คอยกำกับดูแลเรื่องต่างๆ ข้างต้น จนถึงปัจจุบันมีร้านอาหาร คาเฟ่ และบาร์มากกว่า 400 แห่งที่ได้รับการรับรองนี้ รวมทั้งศูนย์อาหารฮอว์กเกอร์ ตลาด และร้านกาแฟเล็กๆ มากกว่า 2,500 แห่ง


วางมาตรการที่เข้มงวดเพื่อประสิทธิภาพที่สูงกว่า

แม้แต่ก่อนที่จะได้รับการรับรองตามมาตรฐาน SG Clean ทาง Cloudstreet ก็ได้วางมาตรการป้องกันเพิ่มเติมอยู่ก่อนแล้ว เพื่อปกป้องบุคลากรและลูกค้าของทางร้านไม่ให้ได้รับเชื้อไวรัส “เราได้ทำการเว้นระยะห่างทางสังคมและเก็บรักษาบันทึกข้อมูลการตรวจวัดอุณหภูมิของพนักงานของเราไว้ทุกวัน โดยมีการตรวจวัดเมื่อพวกเขามาถึงร้านและก่อนออกจากร้าน” Rishi Naleendra เชฟผู้เป็นเจ้าของร้านกล่าว ก่อนหน้านี้ในปี 2019 เขาเพิ่งปิดภัตตาคาร Cheek By Jowl ที่มีชื่อเสียงและได้รับมิชลินสตาร์ เพื่อมาเปิดภัตตาคาร Cloudstreet

“การได้รับการรับรองมาตรฐาน SG Clean ช่วยให้แขกของเราสบายใจเพิ่มขึ้นเมื่อมารับประทานอาหารที่ร้านเรา เพราะรู้ว่าเราได้ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อให้สภาพแวดล้อมของร้านมีความปลอดภัย แขกสามารถรับประทานอาหารและผ่อนคลายอย่างสบายใจเมื่ออยู่ในร้าน โดยลืมสภาพแวดล้อมภายนอกไปชั่วขณะ”

ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ หลายแห่ง รวมถึงร้าน Da Paolo Group ที่เป็นธุรกิจครอบครัว ก็ได้เริ่มมาตรการป้องกันความปลอดภัยกันแต่เนิ่นๆ เมื่อโควิด-19 เริ่มระบาดมาถึงสิงคโปร์ในช่วงต้นปี ร้านอาหารและคาเฟ่ของ Da Paolo ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น การเว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัย การทำความสะอาดฆ่าเชื้อโต๊ะอาหารภายหลังการใช้งานทุกครั้ง และการใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดแบบใช้แล้วทิ้ง ก่อนที่ทางร้านจะได้รับการรับรองมาตรฐาน SG Clean เสียอีก หลังจากนั้น เมื่อได้รับตราสัญลักษณ์นี้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเกี่ยวข้องกับการปรับปรุงระบบมาตรฐานการจัดการความปลอดภัย (Safety Management Measures Systems) อย่างเป็นทางการ ทางร้านก็ได้จัดทำระบบคลาวด์ที่พนักงานทุกคนสามารถเข้าถึงเอกสารที่จำเป็นของการรับรองนี้ได้สะดวก

ในร้านอาหารขนาดใหญ่ การฝึกอบรมนี้ถือเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการทำให้ได้รับตราสัญลักษณ์รับรองนี้ “เราจำเป็นต้องแน่ใจว่าพนักงานทุกคนตระหนักถึงระเบียบข้อบังคับนี้ และปฏิบัติตามขั้นตอนของมาตรฐานใหม่” Oscar Postma ผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมระดับห้าดาว Regent Singapore กล่าว

ปัจจุบัน ห้องอาหารและบาร์เครื่องดื่มต่างๆ (F&B) ภายในโรงแรม อาทิ Summer Palace ที่ได้รับมิชลินสตาร์ และ Manhattan ที่ครองอันดับ 11 จากการจัดอันดับ 50 บาร์ที่ดีที่สุดในโลก (World’s 50 Best Bars) มีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อเป็นประจำทุกๆ ชั่วโมงและเสนอทางเลือกการชำระเงินแบบไร้สัมผัส รวมถึงมาตรการอื่นๆ ตามมาตรฐานที่เข้มงวดซึ่งกำหนดขึ้นโดย SG Clean และจะมีเจ้าหน้าที่ของ SG Clean มาตรวจสอบที่ร้านเป็นประจำทุกสัปดาห์


ความสะอาดที่ต้องแลกมาด้วยต้นทุนสูง

แน่นอนว่า การดำเนินการทั้งหมดนี้ต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูง ทั้งนี้ แม้ว่าการรับรองมาตรฐานนี้จะไม่มีค่าธรรมเนียมใดๆ แต่การรักษาความสะอาดอย่างเคร่งครัดย่อมต้องส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านอาหารอย่างแน่นอน “พูดกันตรงๆ ก็คือ เราจำเป็นต้องมีหน้ากากอนามัย ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ และของจำเป็นอื่นๆ ทั้งหมดเก็บไว้ในสต็อก ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงพอควร” Naleendra กล่าว “ขณะนี้อุตสาหกรรมนี้ก็ค่อนข้างลำบากอยู่แล้ว และสิ่งของเหล่านี้ก็ยิ่งเพิ่มค่าใช้จ่ายเข้ามาอีก”

แต่ผู้ประกอบการบางส่วนกล่าวว่า ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นก็นับว่าคุ้มค่า เมื่อคำนึงถึงความรู้สึกปลอดภัยที่ลูกค้ามีต่อร้านอาหาร เมื่อพวกเขาทราบว่าทางร้านปฏิบัติตามมาตรฐานสูงสุดด้านสุขอนามัย “เราเริ่มการรับรองนี้เพราะต้องการจะรักษาความปลอดภัยให้กับพนักงานและลูกค้าของเรา” Francesca Scarpa หัวหน้าฝ่ายการตลาดและการจัดการผลิตภัณฑ์ของกลุ่มบริษัท Da Paolo Group กล่าว “เราไม่ได้มองว่าการได้รับมาตรฐานนี้จะให้ประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมแก่ธุรกิจของเรา แต่ถ้าเป็นการช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ลูกค้าได้ เราก็ถือว่าเป็นโบนัส”

คนสิงคโปร์ก็รู้สึกดีใจที่ได้ออกมารับประทานอาหารนอกบ้านกันอีกครั้ง “ต้องบอกว่าการที่พนักงานในร้านอาหารสวมหน้ากากอนามัยกันทุกคน มีส่วนทำให้บรรยากาศในร้านเปลี่ยนแปลงไปเลย และทำให้เราสื่อสารกับพนักงานได้ยากขึ้น” Ying ที่เป็นลูกค้าคนหนึ่งกล่าว “การต้องเงี่ยหูฟังพวกเขาอธิบายเกี่ยวกับอาหารและแนะนำไวน์ กลายเป็นเรื่องยากขึ้น แต่นี่ก็เป็นกฎระเบียบที่เราควรทำตาม แต่ฉันไม่คิดเพียงเพราะเหตุนี้จะทำให้คนอื่นๆ หลีกเลี่ยงไม่ออกไปทานอาหารนอกบ้านหรือไม่ไปอุดหนุนร้านโปรดกัน”