สถาปัตยกรรมของสิงคโปร์ได้รับอิทธิพลจากความหลากหลายทางศาสนา วัฒนธรรม และชุมชน โบสถ์คริสต์ มัสยิด โบสถ์ยิว และวัดวาอารามที่สร้างโดยผู้มาตั้งถิ่นฐานในยุคแรกๆ ของสิงคโปร์สร้างความมีชีวิตชีวาให้กับภูมิทัศน์ของเมืองด้วยสีสันและรูปทรงที่หลากหลายละลานตา เชิญแวะเยี่ยมชมศาสนสถานที่สำคัญเหล่านี้เพื่อชื่นชมผลงานสถาปัตยกรรมอันหลากหลาย เช่น สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น สถาปัตยกรรมแบบฟื้นฟูอดีต และสถาปัตยกรรมร่วมสมัย พร้อมๆ ไปกับการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของสิงคโปร์

Buddha Tooth Relic Temple (วัดพระเขี้ยวแก้ว) ในช่วงโพล้เพล้

สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น

สืบค้นรากเหง้าของสิงคโปร์โดยการไปเยี่ยมชมวัดวาอารามสวยๆ ที่ออกแบบสถาปัตยกรรมซึ่งได้รับอิทธิพลโดยตรงจากสถาปัตยกรรมพื้นเมืองของอินเดียหรือจีน


Sri Mariamman Temple (ดราวีเดียน)
ซุ้มประตูทางเข้าของ Sri Mariamman Temple ใน Chinatown (ไชน่าทาวน์) สิงคโปร์ ถ่ายภาพโดย Danny Santos

โกปุรัม (ซุ้มทางเข้าประตู) 6 ชั้นที่ดูอลังการด้านหน้าวัดที่มีชื่อเสียงแห่งนี้สร้างขึ้นในรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบดราวิเดียน และประดับตกแต่งด้วยรูปเทพเจ้าในศาสนาฮินดู และสัตว์ในตำนาน ด้านหลังโบสถ์ ยังมีห้องเล็กๆ อีกหลายห้องที่มีหิ้งบูชาเทพเจ้ามากมาย Sri Mariamman Temple (วัดศรีมาริอัมมัน) ซึ่งเป็นวัดฮินดูที่เก่าแก่ที่สุดในสิงคโปร์ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางชุมชนชาวฮินดู และได้รับการสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่เจ้าแม่มาริอัมมัน ซึ่งเชื่อกันว่ามีอิทธิฤทธิ์สามารถรักษาโรคระบาดได้

Sri Mariamman Temple 244 South Bridge Road สิงคโปร์ 058793
อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า MRT Chinatown


Sree Ramar Temple (ดราวีเดียน)

แม้ว่างานสถาปัตยกรรมจะคล้ายกับสถาปัตยกรรมของ Sri Mariamman Temple (ดราวีเดียน) แต่ Sree Ramar Temple (วัดศรีรามาร์) ก็มีเอกลักษณ์ของตัวเองเช่นกัน นอกจากรูปปั้นของเทพเจ้าฮินดู เช่น พระราม วัดนี้ยังมีพระพุทธรูปและรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม (เทพีแห่งความเมตตา) ซึ่งสะท้อนถึงความหลากหลายทางศาสนาของสิงคโปร์

Sree Ramar Temple 51 Changi Village Road สิงคโปร์ 509908
ใกล้สถานีรถไฟฟ้า MRT Tanah Merah


Thian Hock Keng Temple (จีน)
ลวดลายบนฝ้าเพดานที่ประณีตงดงามของ Thian Hock Keng Temple (วัดเทียนฮกเก๋ง) ถ่ายภาพโดย Afur Wong

Thian Hock Keng Temple (วัดเทียนฮกเก๋ง) (หรือ "วัดแห่งความสุขบนสรวงสวรรค์") เป็นวัดจีนที่เก่าแก่ที่สุดในสิงคโปร์และสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่องค์หม่าโจ่ว (Mazu) หรือเจ้าแม่ทับทิม (เทพธิดาแห่งท้องทะเล) ชาวจีนอพยพในยุคแรกๆ เคยมาทำพิธีไหว้ขอบคุณเจ้าแม่ทับทิมที่ได้ปกป้องคุ้มครองให้พวกเขาเดินทางฝ่าคลื่นลมแรงในทะเลจีนใต้จนสามารถขึ้นฝั่งได้อย่างปลอดภัย คุณจะตื่นตาตื่นใจไปกับสถาปัตยกรรมสไตล์ฝูเจี้ยนที่มีเอกลักษณ์ของวัด ซึ่งมีจุดเด่นต่างจากสถาปัตยกรรมอื่นตรงรูปปั้นมังกรและเทพเจ้าที่มีรายละเอียดมาก รวมถึงชิ้นส่วนเครื่องเคลือบดินเผาที่มีสีสันที่ประดับอยู่บนสันหลังคา แปลกแต่จริง: ผลงานชิ้นโบว์แดงทางสถาปัตยกรรมนี้ก่อสร้างโดยไม่ใช้ตะปูแม้แต่ตัวเดียว และปัจจุบันนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติ

Thian Hock Keng Temple 158 Telok Ayer Street สิงคโปร์ 068613
ใกล้สถานีรถไฟฟ้า MRT Telok Ayer


Buddha Tooth Relic Temple (จีน)
ภาพภายนอกของหลังคาที่ซ้อนกันของ Buddha Tooth Relic Temple ถ่ายภาพโดย Marklin Ang

วัดพุทธแห่งนี้สร้างเสร็จในปี 2007 และได้อวดโฉมความงามนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สถาปัตยกรรมของวัดนี้ที่สร้างขึ้นตามรูปแบบวัดจีนทางภาคเหนือประกอบด้วยรายละเอียดของราชวงศ์ถังและเป็นผลมาจากการทดลองหลายๆ ครั้งจนนับไม่ถ้วน เจ้าอาวาสวัดนี้เข้มงวดมากในเรื่องการออกแบบสถาปัตยกรรมของทางวัด ท่านย้ำว่าต้องยึดตามประเพณีเดิมเพื่อสะท้อนถึงมรดกของชาวจีนสิงคโปร์และถือเป็นการให้เกียรติแก่ย่าน Chinatown

Buddha Tooth Relic Temple 288 South Bridge Road สิงคโปร์ 058840
อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า MRT Chinatown


สถาปัตยกรรมฟื้นฟู

สถาปัตยกรรมฟื้นฟู (Revivalism) คือสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นในสิงคโปร์ คุณจะได้ชื่นชมสถาปัตยกรรมรูปแบบนี้ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้พร้อมไปกับเรียนรู้ความสำคัญทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์


St Andrew's Cathedral (นีโอโกธิก)
สถาปัตยกรรมของ St Andrew's Cathedral ในยามค่ำคืน

โบสถ์ของนิกายแองกลิกันที่เก่าแก่ที่สุดในสิงคโปร์แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นบนที่ดินที่ได้รับบริจาคมาจากชาวอาหรับผู้มาตั้งถิ่นฐาน และว่ากันว่าได้รับอิทธิพลด้านการออกแบบมาจากโบสถ์ของอังกฤษในศตวรรษที่ 13 องค์ประกอบหลัก 3 อย่างที่สำคัญของโบสถ์นี้ซึ่งสัมพันธ์กับนิกาย Church of England คือก้อนหินจากแคนเทอบิวรี่ ไม้กางเขนโคเวนทรี และพรมที่ใช้ในพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 2

St Andrew’s Cathedral (มหาวิหารเซนต์แอนดรูว์) 11 St Andrew's Road สิงคโปร์ 178959
ใกล้สถานีรถไฟฟ้า MRT City Hall


Chesed-El Synagogue (สถาปัตยกรรมฟื้นฟูยุคเรเนซองส์)

Chesed-El Synagogue (โบสถ์ยิวเชเซด เอล) ซึ่งออกแบบให้มีสถาปัตยกรรมแบบปัลลาดิโอและเป็นโบสถ์ยิวที่ใหม่กว่าอีกแห่งหนึ่งจากทั้งหมด 2 แห่งในสิงคโปร์ โดยใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมการฟื้นฟูยุคเรเนซองส์โดยมีลักษณะสถาปัตยกรรมตามแบบกรีกและโรมันโบราณ จุดเด่นของสถาปัตยกรรมลักษณะนี้คือ โครงสร้างทรงโค้ง เสาหินแบบโครินเธียน และหน้ามุขที่มีจุดประสงค์การใช้งานดั้งเดิมคือให้รถม้าวิ่งผ่านได้ หนึ่งในสมาชิกชุมชนชาวยิวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ David Marshall ที่ล่วงลับไปแล้ว เขาเป็นบุคคลสำคัญในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของสิงคโปร์

Chesed-El Synagogue 2 Oxley Rise สิงคโปร์ 238693
ใกล้สถานีรถไฟฟ้า MRT Dhoby Ghaut และ Somerset


Sultan Mosque (สถาปัตยกรรมฟื้นฟูที่ผสมผสานระหว่างอินเดียและยุโรป)
สถาปัตยกรรมของ Sultan Mosque ถ่ายภาพโดย Gaia Ong

อาคารปัจจุบันของ "Masjid Sultan (มัสยิดสุลต่าน)" สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 1932 และมีสัญลักษณ์ที่เป็นจุดเด่นของสถาปัตยกรรมผสมระหว่างอินเดียกับยุโรป ซึ่งถือเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบบริติชอินเดีย ที่ผสมผสานระหว่างอิทธิพลของเปอร์เซีย แขกมัวร์ และตุรกี เมื่อพินิจดูใกล้ๆ คุณจะเห็นว่าที่ฐานโดมประดับด้วยขวดแก้ว รูปแบบการออกแบบลักษณะนี้ทำให้ชาวมุสลิมทุกคนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการก่อสร้างมัสยิดแห่งนี้

Sultan Mosque (มัสยิดสุลต่าน) 3 Muscat Street สิงคโปร์ 198833
ใกล้สถานีรถไฟฟ้า MRT Bugis


ความร่วมสมัย

เชิญมาสำรวจดูว่าสิงคโปร์ผสมผสานศาสนาอันเก่าแก่เข้ากับภูมิทัศน์ของเมืองสมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืนอย่างไร ศาสนสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เหล่านี้เคยได้รับรางวัลมากมายด้านการออกแบบร่วมสมัยที่โดดเด่น


Assyafaah Mosque (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย)

มัสยิดแห่งนี้เปิดทำการในปี 2004 และมีความเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของสถาปนิก จากข้อมูลของมัสยิด สถาปนิกในที่ประชุมตั้งใจที่จะไม่ให้มีโดม โครงสร้างวงโค้ง และหอคอย (minaret) ทั้งนี้เพื่อค้นหาความเป็นตัวตนที่แท้จริงของสิงคโปร์ในแบบร่วมสมัย ซึ่งแตกต่างจากมัสยิดอื่นๆ ในท้องถิ่นที่ใช้รูปแบบตามตะวันออกกลาง ด้วยเหตุนี้ สถาปัตยกรรมที่ออกมาจึงมุ่งเน้นที่ "ความสงบ" "ความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณ" และ "ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียว" โดยให้แสงธรรมชาติเป็นสื่อกลาง อาคารแห่งนี้ได้รับรางวัล Chicago Athenaeum International Architecture ในปี 2008

Assyafaah Mosque (มัสยิดอาสยาฟาห์) 1 Admiralty Lane สิงคโปร์ 757620
ใกล้สถานีรถไฟฟ้า MRT Sembawang


Church of the Blessed Sacraments (โพสต์โมเดิร์น)

โบสถ์คาทอลิกแห่งนี้สร้างเสร็จในปี 1965 โดย Van Sitteren and Partners และเป็นที่รู้จักในหมู่คนสิงคโปร์เพราะหลังคาหินชนวนสีฟ้าที่ดูสะดุดตา มองไปแล้วเหมือนการพับกระดาษโอริกามิหลายๆ ทบให้มีรูปทรงเป็นเต็นท์ ซึ่งสื่อความหมายของ "กระโจมนัดพบ" ในพระคัมภีร์เดิม ความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรมอื่นๆ คือการตกแต่งภายในของโบสถ์ โถงหลักมีรูปทรงเป็นไม้กางเขน และทั้ง 4 จุดที่บริเวณห้องโถงแตะส่วนหลังคานั้นติดด้วยกระจกใส เทคนิคนี้จะทำให้แสงธรรมชาติส่องถึงด้านในและทำให้ภายในโบสถ์สว่างไสว

Church of the Blessed Sacraments (โบสถ์ศีลมหาสนิท) 1 Commonwealth Drive สิงคโปร์ 149603
ใกล้สถานีรถไฟฟ้า MRT Commonwealth และ Queenstown