เป็นเวลานานแสนนานมาแล้ว…

Keppel Harbour (ท่าเรือเคปเปล) ในสิงคโปร์ นานมาแล้วสิงคโปร์มีชื่อเรียกว่าเมืองแห่งทะเล (Sea Town)

ถึงแม้ว่าบันทึกทางประวัติศาสตร์ในยุคแรกที่เป็นลายลักษณ์อักษรของสิงคโปร์จะยังคงถูกซุกซ่อนไว้เป็นปริศนาในกาลเวลา แต่มีบันทึกเรื่องราวของนักเดินทางชาวจีนในศตวรรษที่ 3 ได้บรรยายไว้ว่าสิงคโปร์คือ “โปหลัวชาง (Pu-luo-chung)” หรือ "เกาะตรงปลายคาบสมุทร (Pulau Ujong)" ในภาษามาเลย์ ต่อมาเกาะแห่งนี้รู้จักกันในชื่อ เทมาเส็ก (Temasek) (หรือ “เมืองทะเล”) เมื่อมีผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในยุคแรก ๆ นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1298-1299

ในช่วงศตวรรษที่ 14 เกาะเล็ก ๆ แต่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญแห่งนี้ก็ได้รับการตั้งชื่อใหม่ จากตำนานที่เล่าขานกันมา เจ้าชายแสง นิลา อุตมะ (Sang Nila Utama) จากเมืองปาเลมบัง (Palembang) ซึ่งเมืองหลวงแห่งอาณาจักรศรีวิชัย ได้เสด็จออกเดินทางไปล่าสัตว์และทอดพระเนตรเห็นสัตว์ตัวหนึ่ง ซึ่งพระองค์ไม่เคยเห็นมาก่อน เนื่องจากถือว่าเป็นลางดี พระองค์จึงได้ก่อตั้งเมืองขึ้นมาตรงจุดที่เห็นสัตว์ดังกล่าว และตั้งชื่อเมืองแห่งนี้ว่า “เมืองสิงโต” หรือสิงกะปุระ (Singapura) ซึ่งมาจากคำในภาษาสันสกฤต “สิงหะ (simha)” (สิงโต) กับคำว่า “ปุระ (pura)” (เมือง)

ในสมัยนั้น เมืองแห่งนี้ปกครองโดยกษัตริย์แห่งเมืองสิงกะปุระยุคโบราณจำนวน 5 พระองค์ ตั้งอยู่ปลายคาบสมุทรมลายู และเป็นจุดนัดพบตามธรรมชาติของเส้นทางเดินเรือจากที่ต่างๆ จึงมีความเจริญรุ่งเรืองในฐานะศูนย์กลางทางการค้าสำหรับเรือสินค้าต่างๆ เช่น เรือสำเภาจีน เรือใบของพ่อค้าชาวอาหรับ เรือรบโปรตุเกส และเรือใบของพ่อค้าชาวบูกิสจากเกาะสุลาเวสี

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ผลจากปรากฏการณ์ราฟเฟิลส์

เรือจำนวนมากที่จอดอยู่บริเวณท่าเรือการค้าเก่าแก่ตลอดเส้นทางของแม่น้ำสิงคโปร์ ที่ตั้งของเมืองซึ่งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นศูนย์กลางการค้าที่ดีมาก

สิงคโปร์ยุคใหม่ได้รับการก่อตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 19 อันเนื่องมาจากการเมือง การค้า และบุรุษที่รู้จักกันในนาม เซอร์ สแตมฟอร์ด ราฟเฟิลส์ (Sir Stamford Raffles)

ในช่วงเวลาดังกล่าว จักรวรรดิอังกฤษกำลังมองหาท่าจอดเรือสินค้าในภูมิภาคนี้เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับกองเรือสินค้าของตน และเพื่อไม่ให้ฝ่ายกองเรือของดัตช์ช่วงชิงความได้เปรียบในการแข่งขันทางการค้าจากฝ่ายอังกฤษ สิงคโปร์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่กำลังรุ่งเรืองในแถบช่องแคบมะละกาอยู่ก่อนแล้ว จึงกลายเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด

ราฟเฟิลส์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นรองผู้ว่าการเมืองเบงคูเลน (ปัจจุบันนี้คือ เบงกูลู) ในเกาะสุมาตรา ได้เดินทางมาขึ้นฝั่งที่สิงคโปร์ในวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 1819 หลังจากที่ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพอันมหาศาลของเกาะที่เต็มไปด้วยที่ลุ่มน้ำและหนองบึงแห่งนี้ จึงได้เข้ามาช่วยเจรจาทำสนธิสัญญากับบรรดาผู้ปกครองท้องถิ่น และก่อตั้งสิงคโปร์เป็นสถานีการค้าขึ้นมา เมืองแห่งนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นศูนย์กลางการค้าโดยเน้นเรื่องการให้บริการคลังสินค้า ทำให้ผู้คนอพยพหลั่งไหลเข้ามาทำงานทั้งจากประเทศจีน อินเดีย หมู่เกาะมาเลย์ และดินแดนที่ไกลออกไป

ในปี ค.ศ. 1822 ราฟเฟิลส์ได้ประกาศใช้แผนการจัดการผังเมืองของราฟเฟิลส์ (Raffles Town Plan) ซึ่งเรียกกันอีกชื่อว่า แผนการแจ็คสัน (Jackson Plan) เพื่อเข้ามาจัดการปัญหาความไร้ระเบียบในดินแดนอาณานิคมแห่งนี้ บริเวณย่านที่พักอาศัยได้ถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วนตามเชื้อชาติ เมืองยุโรปมีผู้พำนักเป็นพ่อค้าชาวยุโรป ชาวยูเรซีย และชาวเอเชียผู้มั่งคั่ง ในขณะที่ชุมชนชาวจีนนั้นตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นไชน่าทาวน์ในปัจจุบันและด้านตะวันออกเฉียงใต้ของแม่น้ำสิงคโปร์ ชาวอินเดียพักอาศัยอยู่ในย่านชูเลีย กัมโปง (Chulia Kampong) ทางเหนือของย่าน Chinatwon (ไชน่าทาวน์) และย่าน Kampong Gelam (กัมโปง กลาม) ที่มีชาวมุสลิม ชาวมาเลย์ และชาวอาหรับที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในสิงคโปร์ สิงคโปร์ยังคงเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่องในฐานะสถานีการค้า โดยมีการตั้งธนาคารพาณิชย์ สมาคมนักธุรกิจ และสภาหอการค้าที่สำคัญ ๆ หลายแห่ง ในปี ค.ศ. 1924 มีการเปิดสะพานซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมทางตอนหนือของสิงคโปร์กับยะโฮร์ บาห์รูของมาเลเซีย

รู้หรือไม่?

จอร์จ ดี โคลแมน (George D. Coleman) สถาปนิกคนแรกของสิงคโปร์ เดินทางมาถึงสิงคโปร์ในปี ค.ศ. 1822 และโครงการแรกที่ได้รับมอบหมายก็คือโครงการออกแบบก่อสร้างบ้านพักของเซอร์ สแตมฟอร์ด ราฟเฟิลส์ (Sir Stamford Raffles) นอกจากนี้ เขายังได้ออกแบบบ้านแบบปัลลาดีโออีกเป็นจำนวนมาก

สงครามและสันติภาพ

กองทัพอังกฤษลงนามในเอกสารเพื่อยอมให้สิงคโปร์ถูกยึดครองโดยกองทัพญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 1942 กองกำลังฝ่ายพันธมิตรยอมจำนนในปี 1942

ความเจริญรุ่งเรืองของสิงคโปร์ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสิงคโปร์ถูกโจมตีโดยกองทัพญี่ปุ่นในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1941 ผู้รุกรานบุกเข้ามาทางทิศเหนือ โดยทำให้ผู้บัญชาการกองกำลังของอังกฤษหลงกลเนื่องจากคาดว่าญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบกจากทางทิศใต้ ถึงแม้ว่าจะมีกองกำลังมากกว่า แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรก็ยอมแพ้ต่อกองกำลังญี่ปุ่นในวันตรุษจีน ซึ่งตรงกับวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1942 นับเป็นการยอมแพ้ของกองกำลังที่นำโดยอังกฤษครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เกาะแห่งนี้ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับสมญานามว่า “ป้อมปราการที่ไม่อาจตีฝ่าเข้าไปได้” ได้รับการเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เป็น โชนันโตะ (Syonan-to) (หรือ “แสงแห่งเกาะใต้” ในภาษาญี่ปุ่น)

เมื่อกองทัพญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามในปี ค.ศ. 1945 เกาะสิงคโปร์จึงถูกส่งมอบให้แก่คณะผู้บริหารกองทัพอังกฤษ (British Military Administration) ซึ่งอยู่ในอำนาจมาจนกระทั่งมีการยุบนิคมช่องแคบ (Straits Settlement) ซึ่งประกอบด้วย เกาะปีนัง มะละกา และสิงคโปร์ ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1946 สิงคโปร์ได้กลายเป็นดินแดนอาณานิคมอังกฤษ

เส้นทางสู่การได้รับเอกราช

กองทหารเดินสวนสนามเพื่อฉลองวันครบรอบวันประกาศเอกราชของสิงคโปร์ในวันที่ 9 สิงหาคม 1965 สิงคโปร์ได้ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มากมายกว่าจะมาเป็นประเทศสิงคโปร์เช่นในปัจจุบัน

ในปี ค.ศ. 1959 กระแสชาตินิยมที่ทวีขึ้นทุกขณะได้นำไปสู่การปกครองตนเอง และมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศ พรรคกิจประชาชน (People’s Action Party - PAP) ชนะการเลือกตั้งครองเสียงข้างมากในสภาจำนวน 43 ที่นั่ง และนายลี กวน ยู ก็ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์

ในปี ค.ศ. 1963 ได้มีการก่อตั้งประเทศมาเลเซีย ซึ่งประกอบขึ้นด้วยสหพันธรัฐมาลายา สิงคโปร์ ซาราวัก และบอร์เนียวเหนือ (ปัจจุบันนี้คือซาบาห์) การเดินเกมการเมืองในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าการควบรวมสิงคโปร์เข้าไปในครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จ และเพียงไม่ถึง 2 ปีต่อมา ในวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1965 สิงคโปร์ก็ได้ประกาศแยกตัวออกจากมาเลเซียและกลายเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีเอกราชและอธิปไตยอย่างสมบูรณ์

ทุกวันนี้ สิ่งของและสถานที่ต่าง ๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวในอดีตของสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย เรื่องราวในยุคสมัยอาณานิคม และยุคสงคราม ได้รับการอนุรักษ์เอาไว้เป็นอย่างดีทั้งในตัวเมืองและบริเวณรอบ ๆ สามารถเยี่ยมชมอนุสาวรีย์ พิพิธภัณฑ์ และอนุสรณ์สถานต่าง ๆ หรือเดินทางย้อนเวลากลับไป โดยการเดินไปตามเส้นทางเดินเที่ยวสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ (เฮอริเทจ เทรลส์)

สิ่งอื่นๆ

ที่น่าลอง